พูดถึงศรีราชา หลายคนนึกว่าถามหาซอสพริก
เปล่าค่ะ เราจะไปโหนสลิงกันในป่า ที่เขาเรียกว่าชะนีเหินหาว flight of the gibbon
เราปักหลักพักค้างกันที่ Karavel House กลางเมืองศรีราชา ใกล้เกาะลอย ห้องพักเหมือนบ้าน บริการแบบโรงแรม ห้องใหญ่ มีสระว่ายน้ำ จากุซซี่ ฟิตเนส ห้องอาหารชื่อ California Steak ก็คับคั่งทุกวัน เพราะเชฟเก่ง ใครสนใจจะพักรายเดือนก็เหมาะมาก
เกาะลอย ห่างฝั่ง 500 เมตร เชื่อมจากแผ่นดินด้วยสะพานที่ปิดซ่อมไป 2 ปี เปิดเป็นทางการไปเมื่อ 24 สิงหาคม 2561
เข้ามาถึงเกาะลอย จะเจอพระโพธิสัตว์กวนอิม หรือ เจ้าแม่กวนอิมหยกขาว องค์ใหญ่ หันหน้าออกทะเล ไปทางท่าเรือ ประดิษฐานอยู่ในเก๋งมังกรจีนแปดเหลี่ยม 48 เสา
เดินขึ้นบันไดไป 71 ขั้น เป็นวัดเกาะลอย ศรีมหาราชา ซึ่งมีประวัติมาตั้งแต่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ไหว้พระแล้ว มาชมวิวทะเลจากด้านบน เพลิดเพลินไปอีกแบบ
เพียงครึ่งชั่วโมง เราเป็นชะนีที่เขาเขียว
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว พาเราหลงเส้นทางไร้ป้าย ถึงที่ตั้งฐาน Flight of the Gibbon ค่าบริการคนละ 3,190 บาท เริ่มโหนโรยตัวกันกลางป่าแบบอิสระ ใครใคร่ร้อง..ร้อง ใครใคร่เกร็ง..เกร็ง อย่าเล็งกลัวๆ กล้าๆ มาถึงแล้วลุยค่ะ
ไฟล์ท ออฟ เดอะ กิบบอน เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2550 โดยกลุ่มของคนผู้มีใจรักในธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ได้เข้าช่วยเหลือคู่ชะนีป่วยที่ถูกทิ้งไว้ในกรงขังทางตอนเหนือของประเทศไทย ตั้งอยู่ในป่าฝนเขตร้อนอันเขียวชะอุ่มของหมู่บ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ และสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ศรีราชา จังหวัดชลบุรี
จึงริเริ่มการผจญภัยด้วยซิปไลน์ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้คนได้เข้าไปสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติในป่าฝนเขตร้อนแบบประทับใจไม่รู้ลืม
เหนื่อยจากการโหนสลิงแล้ว คืนนี้เรานอนพักในห้องกว้างของ Karavel House (โรงแรมในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์) กว้างจนอยากจะอยู่อีกหลายคืน
Karavel House กำลังปรับปรุงห้องใหม่ ให้ทันสมัยขึ้น เหมือนอยู่คอนโด จะเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป แล้วจะทยอยปรับปรุงไปโซนๆ ไป สอบถามได้ที่ โทร. 0 3877 1390 หรือ www.kameocollection.com/karavelhouse-sriracha/
ปัจจุบันโรงแรมในเครือ “เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์” (Cape & Kantary Hotels) มีทั้งหมด 23 แห่งในประเทศไทย ประกอบด้วย 3 แบรนด์ คือ
“The Cape Hotel Collection” เป็นกลุ่มโรงแรมชั้นนำหรูหรา ตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ อย่าง กรุงเทพฯ หัวหิน ศรีราชา ภูเก็ต และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เช่น โรงแรมเคปพันวา ภูเก็ต, โรงแรมเคป นิทรา หัวหิน, โรงแรมเคป กูดู เกาะยาวน้อย, โรงแรมเคป ฟาน เกาะสมุยฯลฯ,
“The Kantary Collection” โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ระดับมาตรฐานสูง บริการที่พักทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี เขาหลัก ภูเก็ต ระยอง ศรีราชา และนครราชสีมา เช่น โรงแรมแคนทารี ฮิลส์ เชียงใหม่, โรงแรมแคนทารี เบย์ ภูเก็ต, โรงแรมแคนทารี บีช เขาหลัก, โรงแรมแคนทารี โคราช ฯลฯและ
“The Kameo Collection” โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ให้บริการระดับโรงแรมในราคาคุ้มค่า มีทั้งแบบพักระยะสั้นและระยะยาว ตั้งอยู่ในศรีราชา ระยอง และอยุธยา โรงแรมที่เด่นๆ เช่น โรงแรมคลาสสิค คามิโอ อยุธยา, โรงแรมคลาสสิค คามิโอ ระยอง ล่าสุดคือโรงแรมคามิโอ อมตะ บางปะกง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแบรนด์น้องใหม่ คือ “Somewhere Hotels” เช่น โรงแรมซัมแวร์ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา
เช้าวันต่อมา เรามุ่งหน้าสู่สัตหีบ ตรงเข้าพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
โถงพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงภารกิจกู้ภัยที่หน่วยซีลไปช่วยหมูป่า เมื่อ ก.ค. 2561 ตั้งแต่วันแรกที่เข้าช่วยเหลือจนถึงวันที่หมูป่าออกมาจากถ้ำ เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ค้นหา, อาหารและอุปกรณ์ขณะอยู่ในถ้ำ, ชุดดำน้ำพร้อมถังอ๊อกซิเจนที่หน่วยซีลใช้ถืงวันละ 4 ถัง, เปลที่ใช้พาเด็กออกมา และจุดที่แคบที่สุดของถ้ำหลวง แค่ 38 เซ็นติเมตรเท่านั้น
ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว เล่าว่าการทำงานคราวนั้นทำให้โลกรู้จักหน่วยซีล
แรกเริ่มเดิมที หน่วยซีลตั้งอยู่ที่เกาะพระ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นเกาะลับ ไม่ให้ใครเข้า สร้างผลงานลับ ๆ แรกเริ่มมีเพียง 7 คน ไปตั้งหน่วยบนเกาะลับ เมื่อเริ่มก่อตั้งนั้น ผบ.มียศเพียงเรือเอก จนมาทำหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ เดี๋ยวนี้ ผบ.เป็นพลเรือเอก งานเป็นความลับมาตลอด คนเพิ่งรู้จักหน่วยซีล เมื่อ ก.ค. ปีนี้เอง จากเรื่องการช่วยหมูป่า
“ทีแรกนึกว่างานง่าย ส่งคนไปสิบกว่าคนเอง ทัพอื่นคงงง ว่าไปแค่นี้ทำไมผู้การกรมต้องไป แต่พอทำแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องมาวางแผน รายงานท่าน ผบ.ทร.ทราบ ท่านบอกว่ากองทัพเรือต้องอยู่ข้างประชาชนทจึงตั้งเป้าว่า ไม่พบไม่เลิก เราเคยไปช่วยคนติดถ้ำในทะเลนะ เอาศพออกมา แต่คราวนี้เป็นเด็ก มีโค้ชอีก เป็น 13 คน ต้องพากลับออกมา
งานนี้แม้เป็นความเสี่ยง แต่กำลังพลไม่ยอมแพ้ จากเดิมเคยใช้ขวดอากาศขวดเดียว หนึ่งขวดใช้ได้ 1 ชั่วโมง หลังๆ หนึ่งคนต้องเอาไป 4 ขวด เรกูเรเตอร์ 4 สาย ประยุกต์ใช้ของที่มีอยู่ เสี่ยงมาก เราไม่ยอมแพ้ จนมีพันธมิตรมากมายมาช่วยกัน
งานนี้จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง ทุกคนภูมิใจ ไม่ว่าจะปิดทองอยู่หน้าพระหรือหลังพระก็ตาม”
“ก่อนจะเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย กองทัพเรือต้องใช้เกาะต่าง ๆ เป็นสถานที่ฝึก ต้องนำประชาชนออกจากเกาะ ตั้งแต่ช่วงปี 2532-33 เมื่อถึงปี 2541 ก็ตั้งโครงการศึกษาธรรมชาติเพื่อเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ และเพื่อศึกษาวิจัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรโครงการในเดือนกันยายน 2541 ทรงให้ทำงานตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ท้องทะเล ชื่อโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชก็จริง แต่เราทำงานตั้งแต่ภูเขาถึงใต้ทะเล” ผบ.หน่วยซีลกล่าว
“ทหารเรือใช้เกาะแสมสารเป็นที่ฝึก แต่กองทัพเรือถือโครงการเป็นภารกิจสำคัญ เราอาจไม่มีความรู้ เราก็ทำงานร่วมกับนักวิชาการ ซึ่งขณะนี้มาร่วมกันทำมากกว่า 200 คน ทำมายี่สิบปีแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนฯ เสด็จเกาะแสมสารครั้งล่าสุดเมื่อ 2550 ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย จนขณะนี้ตอนนี้มีอาคาร 5 หลัง ต้องเดินเหนื่อยนิดนึง โคตรเหนื่อยเลย ตอนนี้กำลังจะพยายามทำให้เที่ยวง่าย”
“การสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ ต้องลงทุน แรกเริ่มก็มาด้วยการบริจาค ตอนนี้กองทัพเรือผนวกเกาะแสมสารมาเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ฯ รายรับจากคนข้ามเกาะทุกบาททุกสตางค์ก็นำเข้าพิพิธภัณฑ์ฯ ตกลงกับกระทรวงการคลังว่าจะไม่ส่งเงินให้ แต่จะทำรายรับรายจ่ายเข้ากองทัพเรือ แล้วนำมาใช้จ่าย ตอนนี้กำลังจะปรับปรุงอาคารหลังที่ 4 ต้องใช้เงิน 30 กว่าล้าน
หลักการคือ เป็นสถานที่ที่เด็กมาชม ก็ต้องปรับให้สนุก เมื่อใช้เงินมาก ก็มีรายได้จากเกาะแสมสารมาปรับปรุง ตามรับสั่งสมเด็จพระเทพรัตน์ ว่า เวลามาศึกษาต้องมีความเพลิดเพลินใจ
ความน่ารักของกองทัพเรือ คือจะไม่เก็บค่าใช้จ่ายเด็กรอบๆ พื้นที่ ให้เด็กสามารถเอาเกาะแสมสารเป็นห้องเรียนได้ เอาเงินจากคนไปดำน้ำมาทำพิพิธภัณฑ์ให้เด็กๆ นั่นเอง”
วันนี้เราไม่ได้ขึ้นชม เพราะมัวสาละวนกับการปลูกป่าโกงกาง และปล่อยปู
กองทัพเรือมีชายหาด ก็มีโครงการปลูกป่าชายเลนตามที่ต่างๆ อยู่ตลอด
จะว่าไป ต้องบอกว่าการปลูกที่นี่ครั้งนี้ เรามาสนับสนุนมากกว่า เพราะน้อง ๆ ทหารเรือเป็นคนลงแรง โดยมาขุดเจาะพื้นให้ลึกลงไปใต้หิน เพื่อให้รากโกงกางสามารถหยั่งลงไปยึดดินข้างใต้ได้ แถมยังมีท่อใยหินป้องกันลมและคลื่น หยอดปุ๋ยที่โกงกางชอบกินไว้ให้
ที่ผ่านมาการปลูกวิธีนี้ทำให้รอดกว่าร้อยละ 99 ต้นไหนไม่รอดก็รู้ตำแหน่ง สามารถปลูกซ่อมได้
ใครจะมาปลูกเดี่ยวหรือจัดกิจกรรมปลูกโกงกาง ติดต่อที่กองบัญชาการได้ “แนะนำว่าควรมาช่วยกัน 5 คนต่อ 1 ต้น จะได้ผลกว่าการปลูกคนละต้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ มีนาคม-ปลายสิงหาคม ถ้าจะเป็นกิจกรรมเซลฟี่ก็ไม่รังเกียจ แต่ขอให้ช่วยกันส่งต่อข้อมูลการอนุรักษ์ต่อๆ กันไป ดีกว่ามาถ่ายรูปสวยๆ เฉยๆ” รท.ศุภวุฒ ชูชาติเจริญพร กองเรือยุทธการ หรือหมวดวุฒ กระซิบฝากบอก
ปีนี้ ผบ.ทร.บอกว่า กองทัพเรือจากนี้ไป ต้องเป็นกองทัพเรือประชาชนที่เชื่อมั่น
ขอบคุณที่มาปลูกป่าโกงกาง มีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ
ขยะในทะเลเยอะจริงๆ กำลังคุยกับหมู่บ้านประมงแสมสาร ว่าทำอย่างไรจะให้เป็นชุมชนตัวอย่างด้านอนุรักษ์ แรงงานต่างชาติมาอยู่มาก ถ้าเราทำ เขาก็จะทำตามเรา
ติดต่อทำกิจกรรมอนุรักษ์ได้ที่ รท.ศุภวุฒ ชูชาติเจริญพร กองเรือยุทธการ
โทร. 09 9109 2951
ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร. กร.)
โรงแรมในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ www.capekantaryhotel.com โดยโรงแรมเคปราชา ศรีราชา, โรงแรมแคนทารี เบย์ ศรีราชา, โรงแรมคามิโอ เฮ้าส์ ศรีราชา และโรงแรมคาราเวล เฮ้าส์ ศรีราชา
บริษัท ทรีท็อป แอดเวนเจอร์ จำกัด หรือ ไฟล์ท ออฟ เดอะ กิบบอน (Flight of the Gibbon) และ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพัทยา